ชื่อร้านค้า พระเครื่องภูธนรินทร ฯ พระเครื่องสะท้านแผ่นดินและเพิ่อการศึกษา

พระร่วงกรุวัดถ้ำพุพระ จ.กสญจนบุรี

ในจังหวัดกาญจนบุรีมี “โบราณสถาน” ที่สำคัญของ “พระราชอาณาจักรขอมโบราณ” ก็คือ “ปราสาทเมืองสิงห์” แต่เป็นเพราะจังหวัดกาญจนบุรีมีความอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล ซึ่งหากจะให้นับย้อนหลังก็บอกได้ว่าไปถึงสมัย “ก่อนประวัติศาสตร์” จึงทำให้ จังหวัดกาญจนบุรีมีโบราณสถาน “หลายยุค หลายสมัย” ทั้งสมัย ก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ลพบุรี อู่ทอง จวบจนปัจจุบัน ตามที่ได้กล่าวโดยละเอียดมาแล้วแต่ในที่นี้เป็นเรื่องราวของ “ศิลปะลพบุรี” ซึ่งก็คือ “ศิลปะขอม” ในประเทศไทยนั่นเอง ในส่วนของ “พระเครื่องศิลปะลพบุรี” ที่ค้นพบในจังหวัดกาญจนบุรีนั้นมีน้อยกว่าที่พบใน “จังหวัดสุพรรณบุรี” หลายเท่าตัวและเท่าที่มีการบันทึกรวบรวมไว้มีดังนี้ 

๑. “พระร่วงยืนกรุถ้ำเขาพุพระ” ถ้าพิจารณาดูรูปแบบทางศิลปกรรมของพระร่วงกรุนี้จะพบว่า จะมีรายละเอียด เหมือนกับ “พระร่วงหลังรางปืน” ของ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และ “พระร่วงหลังลายผ้า” ของ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี รวมทั้ง “พระร่วงยืนหลังลายกาบหมาก” ของ กรุศรีโสฬส จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดต่อไปในเรื่องของ “พระเครื่องศิลปะลพบุรี” ในจังหวัด ต่าง ๆ ซึ่ง “พระร่วงยืน” ทั้ง ๓-๔ แห่งที่กล่าวถึงมาทั้งหมดผู้สันทัดกรณีเชื่อกันว่าเป็น “ฝีมือช่างยุคเดียวกัน” และหลังจากสร้างแล้วนำแยกไปลงกรุไว้ที่ จังหวัดกาญจนบุรี บ้าง (พิศาล เตชะวิภาค ในหนังสืออมตพระกรุ ๒๕๔๙ หน้า ๗๖๐) อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย บ้างรวมไปถึง จังหวัดสิงห์บุรี บ้างเนื่องจาก “ศูนย์กลาง” ของพระราชอาณาจักรขอมในประเทศไทยนั้นอยู่ที่ “จังหวัดลพบุรี” นั่นเอง 

สำหรับเรื่องราวของ “พระร่วงยืน” ทั้งพิมพ์ “หลังรางปืน, หลังลายผ้า, หลังกาบหมาก” ก็เป็นการตั้งชื่อไปตามสภาพที่เห็นทางด้านหลังขององค์พระที่ล้วนแต่เป็น “ปางประทานพร” ซึ่งหมายถึง “พระราชอำนาจอันยิ่งใหญ่” ของ “พระมหากษัตริย์” แห่งราชอาณาจักรขอมและบางท่านอาจจะสงสัยว่าอะไรคือ “กาบหมาก” อะไรคือ “รางปืน” และอะไรคือ “หลังลายผ้า” ก็เนื่องจากเป็นการตั้งชื่อไปตามลักษณะของ “ด้านหลังองค์พระ” เพื่อป้องกันการสับสนเพราะที่ด้านหลังของพระร่วงยืนปางประทานพรจากกรุต่าง ๆ ก็คือกระบวนการสร้าง “พระพิมพ์” ไปตามจินตนาการของผู้ออกแบบหรือปั้นแบบ ซึ่งส่วนใหญ่จะคล้ายกันดังนั้นเซียนพระจึงต้องกำหนดชื่อเพื่อให้ทราบว่า แต่ละกรุที่พบพระร่วงยืนปางประทานพรนั้นโดยปกติแล้ว “ด้านหน้า” จะคล้ายกันส่วน “ด้านหลัง” จะมีข้อแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงจึงอาศัย “ความแตกต่าง” ตรงนี้มาเป็นตัวกำหนดชื่อของพระร่วงยืนที่พบในแต่ละกรุเพื่อป้องกันการสับสนดังกล่าวเช่น “พระร่วงหลังกาบหมาก” ก็เรียกไปตามด้านหลังของพระกรุนี้ที่มีลักษณะคล้าย “กาบหมาก” ซึ่งก็คือ “แผ่นไม้” ที่ใช้กดเนื้อตะกั่วที่หลอมเหลวแล้วให้กระจายไปตามแม่พิมพ์พระ “ให้ทั่วถึง” เพื่อให้การสร้างพระมีความสวยงามคมชัดลึกทั้งนี้ก็เพราะการสร้างพระพิมพ์ด้วยเนื้อตะกั่วจะต้องใช้ความร้อนเพื่อให้ตะกั่วหลอมเหลวได้ และการที่จะทำให้เนื้อตะกั่วที่หลอมเหลวแล้ว กระจายไปทุกซอกทุกมุมของแม่พิมพ์พระได้อย่างทั่วถึง ก็ต้องอาศัยแรงกดจากด้านหลังดั่งเช่นกระบวนการสร้าง พระพิมพ์ด้วย “เนื้อดิน” ก็จะใช้ “นิ้วมือ” กดลงไปที่ด้านหลังเพื่อให้เนื้อดินกระจายไปทั่วถึงทุกซอกทุกมุมของแม่พิมพ์ แต่ในกรณีของเนื้อตะกั่วที่ต้องใช้ความร้อนสุมจึงจะหลอมเหลวได้ ดังนั้นเนื้อตะกั่วที่อยู่ระหว่างการหลอมเหลวจึงมี “ความร้อน” ผู้สร้างในสมัยนั้นจึงใช้ “แผ่นไม้” ที่ผิวแผ่นค่อนข้าง “หยาบกดแทน” จึงทำให้ด้านหลังกลายเป็นลายไม้ที่คล้ายกับ “กาบหมาก” เพราะในกรณีนี้หากใช้แผ่นไม้ที่ “เรียบ” แล้วเนื้อตะกั่วจะกระจายไปตามแม่พิมพ์ได้ไม่ดีเท่ากับแผ่น “หยาบ” นั่นเอง 

ทางด้าน “พระร่วงหลังรางปืน” ที่พบในกรุที่ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ก็เป็นการสร้างในลักษณะเดียวกันเพียงแต่พระร่วงหลังรางปืนนั้น ต้องการเน้นการกดเนื้อตะกั่วให้กระจายเข้าไปทุกซอกทุกมุมของแม่พิมพ์ จึงใช้ไม้ที่กดเนื้อตะกั่วมีลักษณะคล้าย “แท่งดินสอ” ด้วยเหตุนี้ด้านหลังจึงกลายเป็นร่องซึ่งมีลักษณะที่ “นักสะสมยุคเก่า” เห็นว่าคล้ายกับ “รางปืน” ทั้งนี้เนื่องจากการใช้ไม้กดเนื้อตะกั่วในการพิมพ์พระนั้น จะสะดวกกว่าการใช้วัสดุอย่างอื่นเพราะไม้มีคุณสมบัติไม่กินเนื้อตะกั่วหากใช้วัสดุที่เป็น “เหล็ก” หรือ “หิน” แล้วจะทำให้เนื้อตะกั่วติดเหล็กหรือหินเละเทะไปหมด ส่วนการใช้ไม้กดเนื้อตะกั่วก็จะต้องใช้ไม้สดมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ในตัว ทำให้เนื้อตะกั่วไม่ติดไม้ดึงออกสะดวกกว่าใช้อย่างอื่นและอีกวิธีก็คือนำ “ลูกประคบ” ที่ใช้ในการนวดประคบอบสมุนไพรต่าง ๆ ตามการนวดแบบแผนโบราณ ซึ่งลูกประคบที่นำมาใช้กดด้านหลังการพิมพ์พระเนื้อตะกั่วนั้น ก็จะใช้ผ้าห่อหุ้มลูกประคบแล้วชุบน้ำให้ชุ่มเพื่อเวลานำมากดเนื้อตะกั่วที่ยังร้อนอยู่นั้น เนื้อตะกั่วก็จะไม่ติดผ้าที่ห่อหุ้มลูกประคบเช่นกันจากที่กล่าวมานี้คงพอจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้กระจ่างแจ้งถึงความเป็นมาของด้านหลัง “พระร่วงยืนปางประทานพร” จากกรุต่าง ๆ ซึ่งทำให้เป็นที่มาของการเรียกชื่อพระอีกด้วย 

ทางด้าน “พระร่วงยืนกรุถ้ำพุพระ” มีการแตกกรุออกมาเมื่อ พ.ศ ๒๕๑๐ ทั้งหมดเพียง ๒๘ องค์ โดยมีพระที่สมบูรณ์ประมาณสิบกว่าองค์เท่านั้นเป็น “พิมพ์ฐานสูง” ทั้งหมดจึงเป็น “พระร่วงยืน” ที่หาได้ยากยิ่งส่วนใหญ่จะอยู่กับนักสะสมพระเครื่องในท้องถิ่น (กาญจนบุรี) เรียกได้ว่าผู้ที่ได้เห็นองค์พระที่เป็น “ของแท้” นั้นมีน้อยมากขนาดขององค์พระจะเท่ากับพระร่วงหลังรางปืนทุกประการ ส่วนด้านพุทธคุณสูงไปด้วยความมีอำนาจและแคล้วคลาดคงกระพันชาตรี (พิศาล เตชะวิภาค รจนาไว้ในหนังสืออมตพระกรุ ๒๕๔๙ หน้า ๗๖๐) 

๒. “พระร่วงยืนกรุวัดพระสิงห์” วัดพระสิงห์หรือวัดสิงห์นี้ก็คือ “ปราสาทเมืองสิงห์” นั่นเองสร้างขึ้นโดย “ชนชาติขอม” เมื่อครั้งยังเรืองอำนาจในภูมิภาคแถบนี้ดังนั้น “พระร่วงยืนกรุวัดพระสิงห์” ก็คือพระที่ “ชนชาติขอม” เป็นผู้สร้างไว้เช่นกันด้วย “เนื้อตะกั่ว” เป็นพระร่วงยืนปางประทานพรเช่นดียวกับ “พระร่วงยืนกรุถ้ำพุพระ” มีซุ้มเป็น “เส้นรัศมี” อยู่โดยรอบและช่วงที่เป็นพระบาท (เท้า) มีลักษณะตัดทำให้เห็นพระบาทในลักษณะประทับยืน “พระบาทถ่างออก” บางท่านจึงเรียกว่า “พระร่วงถ่างเท้ากรุวัดพระสิงห์” แตกออกจากกรุไม่มากนักพุทธคุณยอดเยี่ยมด้านคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาดนอกจากนี้ยังมีการค้นพบ “พระกริ่งบาเก็ง” ที่ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี แต่น้อยมากคือพบเพียง ๒ องค์เท่านั้น ส่วนที่พบเห็นมากก็ที่ “ปราสาทเขาพนมบาเก็ง” ใน “ประเทศกัมพูชา” มีลักษณะเดียวกันกับที่พบที่ อำเภอพนมทวน ทุกประการจึงแสดงให้รู้ว่าขอมเคยแผ่อิทธิพลเข้ามาถึงบริเวณนี้โดยแท้เลย.

 

เชิญรับชมได้ใน www.putanarinton.99wat.com ครับ

โดย Putanarinton - เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2561
  ชอบ 0  /  เข้าชม 1965  /  ความคิดเห็น 0
ดูข้อมูลต่อ

 แสดงความคิดเห็น


(รองรับไฟล์รูปภาพนามสกุล .jpg, .png, .gif)